apple stories
แรงบันดาลใจจากท้องถิ่นสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโลก: พบกับ 4 ผู้ชนะการแข่งขัน Swift Student Challenge ประจำปีนี้
ทุกๆ ปี Swift Student Challenge จะเชิญชวนให้นักเรียนจากทั่วโลกก้าวตามความใฝ่รู้และสำรวจความคิดสร้างสรรค์ของตนเองผ่าน Playground ของแอปต้นฉบับที่สร้างขึ้นด้วยภาษาการเขียนโค้ด Swift ที่เรียนรู้และใช้งานได้ง่าย ตั้งแต่ท้องฟ้าอันพร่างพราวด้วยดวงดาวที่มองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ในเมือง Nuevo León ประเทศเม็กซิโก ไปจนถึงไพ่หนึ่งสำรับที่พบในร้านเกมสไตล์ญี่ปุ่น แรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงาน 350 ชิ้นจากทั่วโลกที่ส่งเข้าแข่งขันประจำปีนี้ เป็นตัวแทนของ 38 ประเทศและภูมิภาค และมีการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมากเข้ามาใช้
"เราได้แรงบันดาลใจอยู่เสมอจากความสามารถและมุมมองที่นักพัฒนารุ่นเยาว์แสดงให้เห็นในการแข่งขัน Swift Student Challenge" Susan Prescott รองประธานฝ่าย Worldwide Developer Relations ของ Apple กล่าว "ผู้ชนะประจำปีนี้แสดงให้เห็นทักษะอันโดดเด่นในการเปลี่ยนโฉมไอเดียที่มีความหมายให้กลายเป็น Playground ของแอปที่สร้างขึ้นอย่างสร้างสรรค์ด้วยความใส่ใจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และเราก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้สนับสนุนเส้นทางของพวกเขาในการสร้างแอปที่จะช่วยกำหนดอนาคตต่อไป"
ผู้ชนะรางวัลที่โดดเด่นทั้ง 50 คนได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานประชุมสำหรับนักพัฒนาจากทั่วโลก (WWDC) ที่ Apple Park ซึ่งพวกเขาจะได้มีส่วนร่วมกับประสบการณ์ 3 วันที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นพิเศษ โดยตลอดช่วงสัปดาห์นั้น ผู้ชนะจะมีโอกาสได้รับชมการถ่ายทอดสด Keynote ในวันที่ 9 มิถุนายน เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรของ Apple และเข้าร่วมในห้องปฏิบัติการ
ผู้ชนะการแข่งขันประจำปีนี้จำนวนมากต่างได้รับแรงบันดาลใจจากท้องถิ่นของตนเอง และสร้างเครื่องมืออันทรงพลังที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก โดยด้านล่างนี้ เหล่าผู้ชนะที่โดดเด่นอย่าง Taiki Hamamoto, Marina Lee, Luciana Ortiz Nolasco และ Nahom Worku ได้เล่าเจาะลึกรายละเอียด Playground ของแอปของตนเอง รวมถึงปัญหาในโลกจริงที่พวกเขาตั้งเป้าที่จะแก้ไข และแสดงให้เห็นพลังของการเขียนโค้ดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
เมื่อตอนที่ Taiki Hamamoto วัย 22 ปี ได้บังเอิญเจอสำรับไพ่ Hanafuda ในร้านเกมแถวบ้าน เขาก็รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เขาเติบโตมากับการเล่นเกมไพ่แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นกับสมาชิกในครอบครัว และก็คิดว่าคงเป็นเรื่องง่ายที่จะชวนเพื่อนๆ ให้มาเล่นไพ่ย้อนความหลังกันสักเกมสองเกม แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น
"ผมพบว่ามีคนรุ่นเดียวกับผมน้อยมากที่รู้จักวิธีเล่นไพ่ Hanafuda ถึงแม้เกมนี้จะเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็ตาม" Hamamoto ซึ่งเพิ่งเรียนจบจาก Prefectural University of Kumamoto กล่าวอธิบาย "ผมคิดว่าถ้ามีวิธีที่จะทำให้สามารถเล่นเกมนี้ได้ง่ายๆ บนสมาร์ทโฟน ก็อาจเป็นไปได้ที่จะทำให้ Hanafuda แพร่หลายมากขึ้น ไม่เพียงแค่ในญี่ปุ่น แต่ทั่วทั้งโลกด้วย"
Hanafuda Tactics เป็น Playground ของแอปที่ชนะรางวัล โดยช่วยให้มือใหม่สามารถทำความคุ้นเคยกับกฎกติกาในเกมและไพ่ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง โดยไพ่จำนวน 48 ใบที่มีสีสันสดใสและออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงด้วยแรงบันดาลใจจากความเคารพในธรรมชาติของญี่ปุ่น จะแบ่งออกเป็น 12 ชุด แต่ละชุดเป็นเสมือนตัวแทนของแต่ละเดือน และต่างก็มีภาพวาดของพืชพรรณประจำฤดูกาล วิธีการเล่นมีหลายวิธี แต่หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ Koi-Koi ซึ่งผู้เล่นจะต้องพยายามสร้างองค์ประกอบของไพ่ในแบบพิเศษซึ่งเรียกว่า yaku
ถึงแม้ Hamamoto จะยังคงรักษารูปลักษณ์ของดอกไม้แบบคลาสสิกของเกมเอาไว้ แต่เขายังเพิ่มความทันสมัยเข้าไปในประสบการณ์การเล่นเกม ด้วยการผสานรวมแนวคิดการเล่นวิดีโอเกมอย่างเช่น ค่าพลังชีวิต (HP) ที่เชื่อมโยงกับคนรุ่นเยาว์ได้เป็นอย่างดี โดย DragGesture ของ SwiftUI ช่วยเขาในการปรับใช้เอฟเฟ็กต์ที่ตอบสนองได้อย่างฉับไวและมีชีวิตชีวา อย่างเช่นการเอียงไพ่และการเรืองแสงในระหว่างการเคลื่อนไหว ทำให้การเล่นเกมให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติและน่าดึงดูดยิ่งขึ้น เขายังทดลองทำให้ Hanafuda Tactics สามารถเล่นได้บน Apple Vision Pro อีกด้วย
Hamamoto ผู้ซึ่งสนุกสนานกับการเล่นเกมนี้คิดไม่ถึงเลยว่าเกมที่มีอายุนานนับศตวรรษอาจหายไปได้ในวันหนึ่งได้อย่างไร "Hanafuda มีความโดดเด่นไม่เหมือนใครตรงที่ทำให้คุณได้สัมผัสกับทิวทัศน์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่น" เขาบอก "ผมต้องการให้ผู้ใช้แอปของผมรู้สึกดื่มด่ำไปกับเกม และผมอยากอนุรักษ์เกมเอาไว้สำหรับผู้คนอีกหลายๆ รุ่นต่อไปในอนาคต"
ในช่วงการเกิดไฟป่าที่ลุกลามไปอย่างรวดเร็วแทบจะทั่วทั้งเมืองลอสแอนเจลิสเมื่อต้นปีนี้ ทำให้ Marina Lee วัย 21 ปีได้รับโทรศัพท์อันสุดแสนสะเทือนใจ ยายของเธอซึ่งอาศัยอยู่ในย่าน San Gabriel Valley ได้รับคำแจ้งเตือนให้อพยพ และมีเวลาน้อยมากในการตัดสินใจว่าควรต้องทำอะไรและไปที่ใด
"ในฐานะที่เติบโตขึ้นมาในแอลเอ ฉันตื่นตัวอยู่เสมอกับความเสี่ยงเรื่องไฟป่าและความเป็นจริงที่มาพร้อมกับภัยธรรมชาติ" Lee เล่า เธอเป็นนักศึกษาปีที่ 3 ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์อยู่ที่ University of Southern California และมาใช้เวลาช่วงปิดเทอมฤดูหนาวกับพ่อแม่ของเธอที่แคลิฟอร์เนียตอนเหนือในช่วงนั้น "แต่โทรศัพท์สายนั้น ทำให้รู้สึกว่าที่บ้านกำลังเจอเรื่องฉุกเฉินเข้าแล้วจริงๆ ยายของฉันตกใจมาก ไม่รู้ว่าควรจะเก็บของอะไรก่อนดี หรือจะเตรียมตัวและติดตามข่าวสารอย่างไร นั่นทำให้ฉันเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างแอปสำหรับผู้คนแบบเดียวกับยาย ที่อาจไม่ได้เก่งเรื่องเทคโนโลยี แต่ก็สมควรที่จะได้รับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และเข้าถึงได้ง่ายในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต"
ผู้ใช้สามารถใช้ EvacuMate ที่เป็น Playground ของแอปเพื่อจัดเตรียมรายการสิ่งของสำคัญที่ควรเก็บติดตัวไปด้วยในระหว่างการอพยพฉุกเฉิน โดย Lee ผสานม้วนฟิล์มบน iPhone เข้ากับแอปเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถอัปโหลดสำเนาเอกสารสำคัญ และเพิ่มความสามารถในการนำเข้ารายชื่อติดต่อฉุกเฉินจากรายชื่อผู้ติดต่อบน iPhone ของตนเอง เธอยังรวมเอาแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ อย่างเช่นการตรวจวัดระดับคุณภาพอากาศและอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่ควรจัดเตรียมเอาไว้ด้วย
ในขณะที่ Lee ปรับแต่ง EvacuMate ต่อไป เธอเน้นไปที่การทำให้มั่นใจว่าทุกคนที่อาจต้องการใช้งานแอปนี้จะสามารถเข้าถึงแอปได้ "ฉันอยากเพิ่มการรองรับสำหรับภาษาต่างๆ" Lee อธิบาย "เมื่อคิดย้อนไปถึงยายของฉัน ท่านไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ในการอ่านภาษาอังกฤษ และฉันก็ตระหนักได้ว่าคุณสมบัติการแปลอาจช่วยคนอื่นๆ ได้จริงๆ ในชุมชนซึ่งต้องเจอกับปัญหาแบบเดียวกัน"
Lee รอคอยจะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ที่เป็นนักพัฒนาด้วยกันในงาน WWDC อย่างเช่นที่เธอเคยได้พบจากการเป็นผู้จัดรายการแฮกกาธอนร่วมกับองค์กรของเธออย่าง Citro Tech หรือการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสำหรับโครงการ Women in Engineering ของ USC "การเขียนโค้ดเป็นสิ่งที่มากเกินกว่าแค่การพัฒนาซอฟต์แวร์" เธอบอก "จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการสร้างมิตรภาพ ชุมชนที่คุณจะได้พบ และเส้นทางการแก้ปัญหาที่จะเพิ่มศักยภาพให้คุณในการสร้างความแตกต่าง"
Luciana Ortiz Nolasco รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งเมื่อเธอได้รับกล้องโทรทรรศน์เป็นของขวัญวันเกิดครบ 11 ปีของตนเอง ทุกๆ คืน เธอจะส่องกล้องผ่านทางหน้าต่างห้องนอนเพื่อสำรวจท้องฟ้าเหนือบ้านของตนเองในเมือง Nuevo León ประเทศเม็กซิโก
แต่แล้วเธอก็ต้องพบกับปัญหาสองประการอย่างรวดเร็ว ประการแรกก็คือชั้นหมอกควันหนาๆ ที่ครอบคลุมอยู่ทั่วเมืองที่มีการทำอุตสาหกรรมอย่างหนัก บดบังดวงดาวและแสงอันสุกสว่างจนหมดสิ้น และประการที่สองก็คือการขาดผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกันเพื่อพูดคุยกัน
"ฉันไม่เคยเจอคนที่ชอบอะไรๆ เหมือนกัน จนกระทั่งได้เข้าร่วมกับสมาคมดาราศาสตร์ของเมือง Nuevo León" Ortiz Nolasco ซึ่งตอนนี้อายุ 15 ปี เล่า ด้วยสายสัมพันธ์ที่เธอได้จากการเข้าสมาคม ทำให้เธอได้เดินทางไปยังชนบทในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อดูดาวได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เข้าร่วมแคมป์และเรียนรู้จากที่ปรึกษาซึ่งมีความสนใจเดียวกันกับเธอ ประสบการณ์เหล่านี้จุดประกายความสนใจให้เธออยากทำให้ดาราศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับผู้อื่น
โดย Playground ของแอปของเธออย่าง BreakDownCosmic นั้นเป็นสถานที่พบปะออนไลน์ ที่ผู้ใช้สามารถเพิ่มกิจกรรมด้านดาราศาสตร์ที่กำลังจะจัดขึ้นทั่วโลกเข้าไปในปฏิทินของตนเอง รับเหรียญจากการปฏิบัติ "ภารกิจ" สำเร็จ และพูดคุยกับเพื่อนนักดาราศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเห็น
Ortiz Nolasco พบเครื่องมือที่เหมาะสมในการทำให้ความคิดของเธอกลายเป็นจริงด้วยภาษาการเขียนโปรแกรม Swift "Swift เรียนรู้ได้ง่าย และการใช้ Xcode ก็ง่ายมาก" เธออธิบาย "แอปจะช่วยแก้ไขให้เกือบทุกครั้งถ้าเกิดฉันเขียนโค้ดพลาด ทำให้ฉันไม่ต้องใช้เวลาหลายๆ ชั่วโมงในการมองหาข้อผิดพลาด แล้วก็ปรากฎว่าเป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่ฉันมองข้ามไป"
หลังจากเข้าร่วมงาน WWDC ในเดือนมิถุนายน เธอวางแผนที่จะพัฒนา BreakDownCosmic ด้วยเป้าหมายสูงสุดก็คือการเปิดตัวแอปนี้ใน App Store "ฉันอยากให้ผู้คนที่ล็อกอินเข้าไปในแอปของฉันรู้สึกเหมือนว่ากำลังเดินทางท่องไปในอวกาศ" เธอบอก "จักรวาลเต็มไปด้วยเรื่องลึกลับมากมายที่ยังไม่ถูกค้นพบ รวมถึงความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด และการเดินทางนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับเพียงแค่คนบางคนเท่านั้น จักรวาลคือที่ซึ่งเราอาศัยอยู่ ที่นี่คือบ้านของเรา และทุกคนควรสามารถที่จะทำความรู้จักกับจักรวาลนี้ได้"
Nahom Worku ที่เติบโตขึ้นมาในเอธิโอเปียแล้วมาใช้ชีวิตอยู่ในแคนาดาในภายหลัง รู้สึกสับสนกับทิศทางการทำงานที่มีอยู่ 2 ทางเลือก นั่นก็คือการเดินตามรอยลุงของเขาด้วยการเป็นนักบิน หรือการเรียนปริญญาวิศวกรรมศาสตร์เช่นเดียวกับพ่อของเขา ในที่สุดความกลัวการบินของเขาก็ทำให้อาชีพแรกถูกปัดตกไป แต่เขาก็ยังไม่อาจตัดสินใจได้ว่าจะเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์สาขาใดจนกระทั่งเกิดการระบาดของ COVID-19
"ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด ผมมีเวลาเหลือเยอะมาก ก็เลยซื้อหนังสือมาสองสามเล่ม และได้รู้จักกับการออกแบบเว็บและการเขียนโค้ด" Worku วัย 21 เล่า เขาได้พบกับผู้คนใน Black Kids Code องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนคณิตศาสตร์และการเขียนโค้ด และในท้ายที่สุดตัวเขาเองก็ได้กลายเป็นที่ปรึกษาด้วย
ในระหว่างการช่วยงานโครงการภาคฤดูร้อนที่ York University ในเมืองโทรอนโต ซึ่งเขากำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ทำให้ Worku และกลุ่มของเขาได้รับภารกิจในการทำงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทั่วโลก สำหรับ Worku โครงการนี้ช่วยเปิดหูเปิดตาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำให้เขามองย้อนกลับไปยังวัยเด็กของตนเอง "การโตมาในเอธิโอเปียทำให้ผมได้เห็นด้วยตาตนเองว่านักเรียนจำนวนมากขาดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างไร" เขาอธิบาย "นอกจากนี้คนจำนวนมาก ถ้าไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ก็อาจมีปัญหากับการเชื่อมต่อที่เอาแน่เอานอนไม่ได้"
Playground ของแอปของเขาอย่าง AccessEd ออกแบบมาเพื่อจัดการกับปัญหาทั้งสองประการ เพื่อมอบแหล่งข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ไม่ว่าจะมีการเชื่อมต่อ Wi-Fi หรือไม่ก็ตาม แอปนี้สร้างขึ้นโดยใช้การเรียนรู้ของระบบและเครื่องมือ AI ของ Apple อย่างเช่น Core ML และเฟรมเวิร์กภาษาธรรมชาติทำให้สามารถแนะนำคอร์สเรียนโดยอิงจากพื้นฐานของนักเรียน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่มีความเฉพาะตัวอย่างแท้จริง
"นักเรียนสามารถถ่ายรูปโน้ตของตนเอง แล้วจากนั้นโมเดลการเรียนรู้ของระบบก็จะวิเคราะห์ข้อความโดยใช้เฟรมเวิร์กภาษาธรรมชาติของ Apple เพื่อสร้างบัตรคำศัพท์" Worku บอก "แอปยังมีระบบการจัดการงานพร้อมด้วยการแจ้งเตือน เนื่องจากนักเรียนจำนวนมากทั่วโลกต่างก็มีการบ้านและความรับผิดชอบในครอบครัวหลายอย่างหลังเลิกเรียน จึงมักจะมีปัญหากับการจัดการกับเวลา"
Worku หวังว่า AccessEd จะสามารถปลดล็อคความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับนักเรียนทั่วโลก "ผมหวังว่าแอปจะช่วยจุดประกายให้คนอื่นเริ่มสำรวจว่า จะสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเช่นการเรียนรู้ของระบบได้อย่างไรในแบบสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา และวิธีการที่จะสามารถทำให้การเรียนรู้น่าสนใจ มีประสิทธิภาพ และสนุกสนานมากยิ่งขึ้น" เขาบอก
Apple ภูมิใจที่ได้ส่งเสริมนักพัฒนา นักสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการรุ่นถัดไป ผ่านโครงการ Swift Student Challenge ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการนับพันคนจากทั่วทุกมุมโลกได้สร้างความสำเร็จในอาชีพการงาน ก่อตั้งธุรกิจ และสร้างองค์กรที่มุ่งเน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้น ดูเพิ่มเติมได้ที่ developer.apple.com/swift-student-challenge
แชร์บทความ
Media
-
เนื้อหาของบทความนี้
-
รูปภาพในบทความนี้